ปลานิลสัญจร

ปลานิลสัญจร เกษตรกรพบผู้ส่งออก' ขยายผลผลักดันสู่การส่งออกอย่างเป็นรูปธรรม

ดร.จิราวรรณ แย้มประยูร รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการบริหารสินค้าปลานิลและผลิตภัณฑ์ซึ่งประกอบด้วยกรมประมงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิล โรงงานผลิตอาหารปลา และโรงงานแปรรูปปลานิลได้ร่วมกันจัดทำยุทธศาสตร์การบริหารสินค้าปลานิลและผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออกขึ้น ในระหว่างปี พ.ศ. 2551-2554 เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพการผลิตปลานิลตามมาตรฐานระบบการผลิตที่ถูกต้องในฟาร์ม และขยายช่องทางตลาดการส่งออกปลานิลให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น

เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการ ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว ทางกรมประมงจึงได้กำหนดจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การเพิ่มศักยภาพการผลิตปลานิลเพื่อการส่งออก “ปลานิลสัญจร เกษตรกรพบผู้ส่งออก” ขึ้นในทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยแล้วเสร็จไปเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2552 ที่ผ่านมา ซึ่งผลของการสัมมนาทั้ง 5 ภูมิภาคนั้น ปรากฏว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง โดยมีผู้เข้าร่วมการสัมมนาทั้ง 5 ครั้งรวมกว่า 1,883 คน ประกอบด้วย เกษตรกร 1,167 คน เจ้าหน้าที่กรมประมง 493 คน ผู้แทนโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ 86 คน ผู้แทนสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย 21 คน และสื่อมวลชนอีก 69 คน ซึ่งในแต่ละครั้งทุกฝ่ายได้ใช้เวทีการสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลและความคิดเห็นระหว่างกันทำให้เกษตรกรได้รับทราบข้อมูลและสถานการณ์ที่แท้จริงจากผู้แปรรูปโดยตรง ตลอดจนมีความเข้าใจในเรื่องของการรวมกลุ่มและการสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง อันจะเป็นการพัฒนาให้เกิดระบบการซื้อขายโดยตรง ระหว่างเกษตรกรและผู้แปรรูปได้ในอนาคต

“การประเมินผลการจัดสัมมนาฯ ทั้ง 5 ภูมิภาค กล่าวได้ว่าบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้เป็นอย่างดี เนื่องจากทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือและช่วยกันผลักดันยุทธศาสตร์ฯ อย่างเต็มที่ ส่งผลให้กรมประมงได้รับทราบข้อมูลปัญหาอุปสรรคและได้รับข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ เพื่อจะได้นำไปใช้ในการดำเนินการเพิ่มศักยภาพการผลิตปลานิลเพื่อการส่งออกต่อไป” ดร.จิราวรรณ กล่าว

รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยเพิ่มเติมด้วยว่า จากประเด็นปัญหาที่ได้รับทราบทั้งหมด กรมประมงจึงได้กำหนดแนวทางในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย และวิสัยทัศน์ภายใต้ยุทธศาสตร์บริหารสินค้าปลานิลและผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย 1.เร่งดำเนินการให้การรับรองมาตรฐานระบบการผลิตที่ถูกต้องในฟาร์มของฟาร์มปลานิล 2.เพิ่มผลผลิตและส่งเสริมการเลี้ยงปลานิลพันธุ์ดี 3.พัฒนาสายพันธุ์ปลานิลให้มีความต้านทานโรค โตเร็ว และมีปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร 4.ลดต้นทุนการเลี้ยงปลานิล โดยการพัฒนาสูตรอาหาร กำหนดแนวทางในการให้อาหารอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มเพื่อผลิตอาหาร และการใช้ประโยชน์จากเศษเหลือจากกระบวนการแปรรูป 5.ส่งเสริมให้ความรู้แก่เกษตรกร ทั้งในด้านการพัฒนามาตรฐานการเลี้ยง การป้องกันโรค และการดูแลรักษาหลังการจับ 6.จัดตั้งเครือข่ายศูนย์ข้อมูลปลานิลและ จัดทำระบบการตรวจสอบย้อนกลับสำหรับสินค้าปลานิล 7.ประสานสมาคมอาหารแช่เยือกแข็ง ไทยเพื่อคัดเลือกกลุ่มเกษตรกรที่มีความพร้อมในการจัดทำระบบการซื้อขายตรง เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับเกษตรกรที่มีความสนใจเลี้ยงปลานิลเพื่อการส่งออก

ปลานิลเป็นปลาที่สามารถอาศัยอยู่ได้ในน้ำจืดและน้ำกร่อย มีถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ที่ทวีปแอฟริกา พบทั่วไปตามหนอง บึง ในประเทศซูดาน ยูกันดา และทะเลสาบแทนแกนยิกา ในประเทศแทนซาเนีย ปลานิลเข้าสู่ประเทศไทยครั้งแรกโดยสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทรงจัดส่งเข้ามาทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2508 จำนวน 50 ตัว ครั้งนั้นได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ทดลองเลี้ยงปลานิลในบ่อสวนจิตรลดา เป็นหนึ่งโครงการในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา

ผลการทดลอง ปรากฏว่าปลาเจริญเติบโตและแพร่ขยายพันธุ์ได้เป็นอย่างดี ต่อมาจึงได้พระราชทานชื่อว่า “ปลานิล” โดยมีที่มาจากชื่อแม่น้ำไนล์ ที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยดั้งเดิม และพระราชทานพันธุ์ปลาดังกล่าวให้แก่กรมประมงจำนวนหนึ่ง เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2509 เพื่อนำไปขยายพันธุ์และแจกจ่ายแก่พสกนิกร และปล่อยลงไว้ตามแหล่งน้ำต่าง ๆ ตามที่เห็นว่าเหมาะสม เนื่องจากปลานิลมีคุณลักษณะพิเศษหลายข้อ คือ กินอาหารได้ทุกชนิด เช่น ไรน้ำ ตะไคร่น้ำ ตัวอ่อนของแมลงและสัตว์น้ำเล็ก ๆ มีขนาดลำตัวใหญ่ ความยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร แพร่ขยายพันธุ์ง่าย และมีรสชาติดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น